หลักการทางวิทยาศาสตร์ การพูดลอยๆโดยไม่มีข้อพิสูจน์นั้นทำไม่ได้ พูดกันมานานว่าการจำกัดอาหาร (Caloric restriction หรือ CR) โดยร่างกายได้รับอาหารปริมาณน้อยจากการอดอาหาร (Fasting) ในระดับที่ไม่ใช่ขาดอาหาร (Starvation) จะช่วยให้อายุยืนนาน
งานวิจัยที่ทำในสัตว์ชั้นต่ำอย่างแมลงวัน หรือหนอน หรือหนูทดลอง ให้ผลสรุปออกมาอย่างนั้น ทว่าในเมื่อไม่มีผลการศึกษายืนยันในมนุษย์ นักวิทยาศาสตร์ก็ไม่กล้าสรุป ได้แต่บอกว่าการอาหารระยะสั้นๆที่เรียกกันว่าการอดอาหารแบบไม่ต่อเนื่อง (Intermittent fasting หรือ IF) อาจช่วยยืดอายุขัยได้ ยังไม่กล้ายืนยันให้เป็นมั่นเป็นเหมาะ ว่ากันอย่างนั้น
เหตุนี้เองทำให้ทีมงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยเยล สหรัฐอเมริกา ลงมือทำการศึกษาลึกลงไปในทางชีวเคมีทางการแพทย์ เอาให้รู้กันไปเลยว่าการอดอาหารระยะสั้นๆ ส่งผลดีต่อกลไกในร่างกายที่สามารถส่งผลต่อเนื่องทำให้อายุขัยยืนยาวได้อย่างไร ทีมงานวิจัยที่ว่านี้นำโดย
ศ.นพ. V. D. Dixit ทำงานวิจัยในอาสาสมัครจำนวน 200 คน กลุ่มหนึ่งให้อดอาหารแบบ IF อีกกลุ่มหนึ่งให้ปฏิบัติตัวปกติเป็นเวลานานสองปี นำข้อมูลการศึกษาออกมาวิเคราะห์ทางชีวเคมีทางการแพทย์ได้ผลออกมาน่าสนใจ งานวิจัยนี้ตีพิมพ์ในวารสาร Science ค.ศ.2022
จึงถือว่างานวิจัยชิ้นนี้ได้รับการยอมรับสูง วารสาร Science ไม่รับงานตีพิมพ์ง่ายๆ ไม่ถึงระดับจริงๆไม่มีวันได้ตีพิมพ์
ผลการศึกษาซึ่งทดสอบโดยเทคนิค NMR จากนั้นวิเคราะห์กลไกทางเมแทบอลิซึม ได้ผลสรุปออกมาว่าการจำกัดพลังงาน (CR) ช่วยยืดอายุขัยในมนุษย์ผ่านทางสองกลไกที่เกี่ยวข้องกับต่อมไทมัส (Thymus gland) ซึ่งเป็นต่อมที่ทำหน้าที่ด้านการสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกาย กลไกแรกคือการอดอาหารทำให้ไขมันที่พอกต่อมไทมัสซึ่งเกิดมากขึ้นเมื่ออายุเกินสี่สิบปีมีปริมาณลดลง ผลที่ตามมาคือการทำงานของต่อมไทมัสในการสร้างภูมิคุ้มกันเมื่ออายุมากขึ้นมีภาวะที่ดีขึ้น
ประการที่สอง PLA2G7 gene ภายในเซลล์มาโครฟาจ (macrophage) ซึ่งสร้างขึ้นที่ต่อมไทมัส เมื่ออดอาหาร การทำงานของยีนเพื่อสร้างเอนไซม์เกิดขึ้นน้อยลง ผลที่ตามมาคือการทำงานของ NLRP3 inflammasome ลดลง ส่วนนี้เกี่ยวข้องกับการสร้างกลไกที่เกี่ยวข้องกับภาวะอักเสบภายในอวัยวะ เป็นผลให้ภาวะอักเสบภายในเซลล์และอวัยวะลดลง ทั้งสองกลไกรวมถึงกลไกอื่นๆที่เคยพบมาแล้วจากงานวิจัยชิ้นอื่นช่วยยืนยันว่าการอดอาหารช่วยยืดอายุขัยของมนุษย์ได้ สรุปของสรุปคือแนะนำให้อดอาหารแบบไอเอฟไม่ต่อเนื่องเป็นระยะหากต้องการมีอายุยืนยาว สรุปอย่างนั้น
อ้างอิง Dr.Winai Dahlan
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น